ดัชนีรายได้ ดัชนีราคา และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ประจำเดือนพฤษภาคม 2561
และแนวโน้มเดือนมิถุนายน 2561 – กรกฎาคม 2561
 
1. ดัชนีรายได้เกษตรกร
    ภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ระดับ152.14 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 10.34 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.00 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.89 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และสุกร
ตารางที่ 1 การเปลี่ยนแปลงดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร (%YoY)
รายการ 2559 2560 2560 2561
ครึ่งปีแรก ครึ่งปีหลัง ไตรมาส 1 เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน(p)
รายได้เกษตรกร 3.28 2.74 15.01 -5.50 -4.52 8.68 10.34 7.87
ผลผลิตสินค้าเกษตร 0.04 5.66 9.19 3.13 8.84 19.86 16.00 8.34
ราคาสินค้าเกษตร 3.24 -2.78 4.43 -9.63 -12.27 -9.33 -4.89 -0.44
 
หมายเหตุ : %YoY คือ เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา, p คือ preliminary (ตัวเลขเบื้องต้น)                   
ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
 

2. ดัชนีราคาสินค้าเกษตร
    2.1 ภาพรวมราคาสินค้าเกษตร วัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 131.08 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 4.89 ซึ่งลดลงในหลายกลุ่มสินค้า และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.12


หมายเหตุ :1ดัชนีราคาสินค้าเกษตรรายเดือน หมายถึง ตัวชี้วัดภาพรวมระดับราคาสินค้าเกษตรรายเดือน
ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
 
-- เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา --
สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
      - ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกมีความต้องการข้าวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมการส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า
      - เงาะโรงเรียน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
      - ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการของตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
      - ไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงเรียนเปิดเทอม จึงมีความต้องการใช้ไข่ไก่เพื่อการบริโภคมากขึ้น ประกอบกับมาตรการเพิ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศ
สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง
      - ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตปาล์มทะลายสูงขึ้น
      - ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการซื้อภายในประเทศลดลง
      - สับปะรด ราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกกระจุกตัวและมีปริมาณมากกว่าความต้องการของตลาด
      - สุกร ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการ จากสภาพอากาศที่เย็นลงในช่วงฤดูฝน ทำให้สุกรโตเร็ว
-- เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา --
สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
       - ยางพารา ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการยังคงต้องการยางเพื่อส่งมอบไปยังผู้รับซื้อยางจากต่างประเทศ
      - ไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดลดลง
สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง
      - สับปะรด ราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตส่วนเกินจากแหล่งผลิต
      - กุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงเข้าฤดูฝน ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้ง และเกิดโรคระบาด
 
2.2 จำแนกตามกลุ่มสินค้า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2561 เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาและเดือนที่ผ่านมา
1) กลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร
          - เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.31 สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% และมันสำปะหลัง
          - เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.49 สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% และมันสำปะหลัง
2) กลุ่มไม้ยืนต้น
          - เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 29.14 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา
          - เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.63 สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา
3) กลุ่มไม้ผล
          - เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.11 สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง เงาะโรงเรียน และลิ้นจี่
          - เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.40 สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่    ทุเรียนหมอนทอง และลิ้นจี่
4) กลุ่มพืชน้ำมัน
          - เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 29.68 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน
          - เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.79 สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน
5) กลุ่มพืชไม้ดอก
          - เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.72 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.89
6) กลุ่มปศุสัตว์ 
          - เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 8.53 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ สุกร และไก่เนื้อ
          - เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.06 สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่
7) กลุ่มประมง
- เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 25.87 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 13.46

3. ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร
    ภาพรวมการผลิตสินค้าเกษตร วัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ระดับ116.06 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 16.00และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง ร้อยละ 11.30


หมายเหตุ :2ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือน หมายถึง ตัวชี้วัดภาพรวมการผลิตสินค้าเกษตรรายเดือน โดยปี 2548 เป็นปีฐาน
ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
 
-- เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา --
      - สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม
      - สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ ทุเรียน และสุกร
-- เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา --
      - สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา เงาะโรงเรียน ลิ้นจี่ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม
      - สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และไก่เนื้อ
 
4. แนวโน้มดัชนีรายได้ ราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2561
     4.1 เดือนมิถุนายน 2561
          แนวโน้มรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกร ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 145.54 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2560 ร้อยละ 7.87 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.34 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ลำไย เงาะ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.44 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ สับปะรด เงาะ มังคุด สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม
     4.2 สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนมิถุนายน 2561
           - ยางพารา คาดว่าผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากเกษตรกรเริ่มเปิดกรีดยาง ขณะที่ผู้ซื้อต้องการยางเพื่อส่งมอบ ส่งผลให้ดัชนีราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
           - สับปะรด คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่งผลให้ดัชนีราคามีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
           - สุกร คาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นผลจากสภาพอากาศที่เย็นลงในช่วงฤดูฝนจะทำให้สุกรโตเร็ว ส่งผลให้ดัชนีราคามีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
     4.3 เดือนกรกฎาคม 2561
           - ดัชนีรายได้เกษตรกร คาดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
           - ดัชนีราคา คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และเงาะ