สศท.6 ชี้ ทางเลือกปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม จ.ฉะเชิงเทรา ตาม Agri-Map

สศท.6 ชี้ ทางเลือกปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม จ.ฉะเชิงเทรา ตาม Agri-Map
 
นายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 (สศท.6)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงการจัดประชุมหารือโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ปี 2561 จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ  ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกร การประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนอผลการศึกษาสินค้าเกษตรที่สำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจสูงสุดของจังหวัด (TOP 4) ได้แก่ ข้าวนาปี มะม่วงน้ำดอกไม้ กุ้งขาวแวนนาไมและปลากะพง โดยทำการเปรียบเทียบผลตอบแทนสุทธิจากการผลิตในพื้นที่เหมาะสมและพื้นที่ไม่เหมาะสมของข้าว เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางเชิงนโยบายและมาตรการในการสนับสนุนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในพื้นที่ และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) ข้าวตามแผนที่ Agri-Map
จากการศึกษา พบว่า จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีพื้นที่เหมาะสม (S1/S2) สำหรับปลูกข้าวจำนวน 1,169,706 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) สำหรับปลูกข้าวจำนวน 130,056 ไร่  
หากพิจารณาผลตอบแทนสุทธิจากการผลิต ข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสม(S1/S2) 1,822 บาท/ไร่ ในพื้นที่ไม่เหมาะสม(S3/N) 1,444 บาท/ไร่  มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งไม่ได้แยกพื้นที่ความเหมาะสม มีผลตอบแทนสุทธิ 13,738 บาท/ไร่ กุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งไม่ได้แยกพื้นที่ความเหมาะสม มีผลตอบแทนสุทธิ 17,711 บาท/ไร่ และปลากะพง              ซึ่งไม่ได้แยกพื้นที่ความเหมาะสม มีผลตอบแทนสุทธิ 63,519 บาท/ไร่  
  • (S3/N)  พบว่าเกษตรกรสามารถปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือนและยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยมีตลาดรองรับแน่นอน มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 1.พืชสมุนไพร/เครื่องเทศ เช่น ปลูกข่า โดยมีต้นทุนการผลิต 11,949 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 46,278 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 34,329 บาท/ไร่  ปลูกตะไคร้ ต้นทุนการผลิต 9,281 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 20,868 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 11,586 บาท/ไร่ ซึ่งผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเครื่องเทศปรุงรสอาหาร หรือตลาดบริโภคในจังหวัดและนอกจังหวัด จะมีพ่อค้าเข้ารับซื้อถึงในแหล่งผลิต ทำให้ลดต้นทุนการขนส่งอีกด้วย  2.การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนระบบปิด โดยมีต้นทุนการผลิต 266,223 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทน 346,752 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 80,528 บาท/ไร่/ปี (1 ไร่ สามารถปลูกโรงเรือนได้ 6-7 โรง) สามารถเก็บขายได้เมื่ออายุได้ 15 วัน ใน 1 รุ่นให้ผลผลิต 15 วันก็จะหมด ตลาดซื้อขายจะพ่อค้าเข้ารับซื้อถึงแหล่ง  3.พืชผักปลอดภัย(กางมุ้ง) เช่น ผักกวางตุ้ง  มีต้นทุนการผลิต 9,246 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทน 27,328 บาท/ไร่/ปี  คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 18,081 บาท/ไร่/ปี  ผักคะน้า มีต้นทุนการผลิต 10,225 บาท/ไร่/ปี  ผลตอบแทน 29,342 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 19,117 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรสามารถควบคุมการผลิตลดปัญหาสินค้าล้นตลาดและไม่ใช้สารเคมี และใช้น้ำไม่มากนักเนื่องจากอายุโดยเฉลี่ยของผักประมาณ 45 วัน/รุ่น สามารถเก็บขายได้แล้ว และยังเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ
       ผอ.สศท.6 ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการประชุมหารือในครั้งนี้ ผู้แทนเกษตรกรต้องการให้ภาครัฐให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในการปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์ หากเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยน พร้อมทั้งต้องการให้มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน  และเจ้าหน้าที่ของรัฐควรให้สนับสนุนเกษตรกรในเรื่องของการวางแผนการผลิต โดยมีข้อมูลสนับสนุนความต้องการของตลาด หรือการเพาะปลูกควรปลูกจำนวนเท่าไรถึงจะไม่เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด และสินค้าแต่ละชนิดมีระยะการปลูก/เลี้ยง-เก็บเกี่ยวเป็นอย่างไร  ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวจะนำไปเป็นแนวทางและมาตรการให้กับหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนกับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนได้ ต่อไป

ดาวน์โหลดเอกสาร



บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari