ประชุมคณะอนุกรรมการฯพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 2/2563

วันที่ 17 มีนาคม 2563 นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 (สศท.8) เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมตาปี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำ การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การป้องกันและแก้ไขพื้นที่ไม้ผลเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ปีงบประมาณ 2563 ไตรมาส 1 ความก้าวหน้าการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคของโครงการตามนโยบายสำคัญ (เกษตรทฤษฎีใหม่ ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ และการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง และผลกระทบด้านเศรษฐกิจการเกษตรจากการระบาดของโรค Covid-19 รวมทั้งสถานการณ์การผลิตไม้ผลภาคใต้ 7 จังหวัดตอนบน จากผลการประชุมของคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลภาคใต้ ครั้งที่ 1/2563 และวาระพิจารณาในเรื่องการส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและบริโภคภายในประเทศ
ในการนี้ สศท.8 ได้นำเสนอผลกระทบด้านเศรษฐกิจการเกษตรจากการระบาดของโรค Covid-19 และมาตรการบรรเทาผลกระทบ มีสาระสำคัญ คือ ส่งผลต่อการส่งออกผักและผลไม้ไปประเทศจีน โดยความต้องการสินค้าเกษตรไทยภาพรวมลดลงในระยะสั้น ช่วง 3 เดือนแรก มกราคม - มีนาคม 2563 คิดเป็นมูลค่า 940 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ในช่วง 6 เดือนแรก มกราคม - มิถุนายน 2563 คิดเป็นมูลค่า 5,278 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุเรียน และมังคุด ภาคตะวันออก ออกสู่ตลาด ร้อยละ 80 ของการส่งออกไปประเทศจีน ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบ COVID-19 กรณีผลไม้ ดังนี้ 1) มาตรการช่วยเหลือการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร 2) มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ 3) การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ผลกระทบโรคระบาด COVID-19 สำหรับสถานการณ์ไม้ผล จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2563 คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียน 4 หมื่นกว่าตัน เพิ่มขึ้น 6 % จากปี 2562 มังคุด 7 หมื่นกว่าตัน ลดลง 5 % เงาะ 3 หมื่นกว่าตัน เพิ่มขึ้น 2 % ลองกอง 7 พันกว่าตัน ลดลง 3 % โดยทุเรียน มังคุด เงาะ จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนสิงหาคม ส่วนลองกอง จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนตุลาคม และเสนอเพื่อพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ ประกอบด้วย 1) จัดหาพันธุ์ดี ตรงกับความต้องการของตลาด 2) ประชาสัมพันธ์ด้านการผลิตและการตลาดแก่เกษตรกร รวมถึงติดตามและประเมินผล 3) ส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่เหมาะสมและมีศักยภาพ 4) สนับสนุนการตรวจรับรองแปลง GAP และตามมาตรฐานข้อกำหนดของผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรเข้ามาเป็นเครือข่ายของสหกรณ์และผู้ประกอบการ และ 5) ใช้หลักการตลาดนำการผลิตจับคู่ตลาดกับเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร มุ่งเน้นให้มีตลาดรองรับผลผลิต และส่งเสริมการทำ Contract Farming ซึ่งคณะอนุกรรมการฯมีมติให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมดังกล่าว


บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari