ข่าวที่ 112/2562 งบ กษ. ปี 63 ผ่านฉลุย วาระแรก รวม 110,874 ล้านบาท

งบ กษ. ปี 63 ผ่านฉลุย วาระแรก รวม 110,874 ล้านบาท
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 วาระที่ 1 วงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินรวม 110,874  ล้านบาท สามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 25,536 ล้านบาท  2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จำนวน 33,600 ล้านบาท 3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 43,588 ล้านบาท 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) จำนวน 8,150 ล้านบาท
จากคำของบประมาณดังกล่าว มีการดำเนินงานที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 12 เรื่อง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้อง 8 เรื่อง วงเงินรวม 23,638 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) การแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน วงเงิน 1,349 ล้านบาท 2) มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก วงเงิน 4 ล้านบาท 3) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม วงเงิน 5,499 ล้านบาท 4) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน วงเงิน 16 ล้านบาท 5) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต วงเงิน 236 ล้านบาท 6) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 159 ล้านบาท 7) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน วงเงิน 70 ล้านบาท 8) การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย วงเงิน 16,305 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินงานด้านนโยบายสำคัญของรัฐบาล 12 ด้าน เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 6 ด้าน วงเงินรวมทั้งสิ้น วงเงิน 61,700 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 9,880 ล้านบาท 2)การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย 12,730 ล้านบาท 3) การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 46 ล้านบาท 4) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 227 ล้านบาท 5) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 38,688 ล้านบาท และ 6) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ 129 ล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเน้นขับเคลื่อนภารกิจโครงการ/แผนงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน ซึ่งหลังจากนี้ งบประมาณประจำปี 2563 จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี (สภาผู้แทนราษฎร) ต่อไป
***********************************

แหล่งข้อมูล

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร