แผนปฏิบัติราชการ

สศท.10 ร่วมงานเปิดประกาศใช้มาตรการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในทะเลอ่าวไทย

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) ร่วมพิธีเปิดประกาศใช้มาตรการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในทะเลอ่าวไทย ปี 2565 และเปิดโครงการกระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค (Fisherman Market) ณ บริเวณชายทะเลอ่าวประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายชาวประมง และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ปี 2565 และประกอบพิธีบวงสรวงพระรูป พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นอกจากนี้ ได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง จำนวน 220,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 100,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 100,000 ตัว และปลากะพงขาว 20,000 ตัว ลงในอ่าวประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งด้วย
 มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ปี 2565 เป็นมาตรการที่ประกาศกำหนดโดยอธิบดีกรมประมง อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 70 มีสาระสำคัญเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน กำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. - 14 มิ.ย. ของทุกปี ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เนื่องจากผลการศึกษาทางวิชาการของกรมประมง พบว่าพื้นที่ทะเลอ่าวไทยใน 3 จังหวัดดังกล่าว เป็นพื้นที่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู โดยระยะที่ 1 จะมีการปิดอ่าวไทยในพื้นที่ตั้งแต่ปลายแหลมเขาตาม่องล่าย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึง อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ในทะเล 27,000 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลาห้ามทำการประมง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.- 15 พ.ค. ส่วนระยะที่ 2 จะมีการปิดอ่าวไทยตามระยะที่ 1 แต่ปรับลดลงมาให้คงห้ามทำการประมงในระยะใกล้ฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนอพยพไปยังพื้นที่เลี้ยงตัวอ่อนในอ่าวไทยตอนใน ครอบคลุมพื้นที่ 5,300 ตารางกิโลเมตร และกำหนดห้ามทำการประมงเพิ่มเติมในพื้นที่ตั้งแต่เขาตาม่องล่ายไปทางทิศเหนือ จรด อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ 2,900 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.- 14 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ได้มีการยกเว้นการใช้เครื่องมือประมงบางชนิด ตามที่ระบุไว้ในประกาศเพื่อให้ชาวประมงสามารถทำการประมงได้ในช่วงเวลาที่มีการปิดอ่าว
ทั้งนี้ ยังมีการจัดโครงการกระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภคหรือ Fisherman Market เปิดโอกาสให้ชาวประมงได้นำสินค้าประมงพื้นบ้านมาจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อสร้างรายได้ มีเกษตรกร และชาวประมงพื้นบ้านนำสินค้าประมงมาจำหน่ายกว่า 30 ร้าน อาทิ หอยนางรม ปูม้า หอยแมลงภู่ ปลาทะเล ปลาทราย รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น หมึกแห้ง ปลาอินทรีย์แดดเดียว ปลาเค็ม กะปิ น้ำพริกปูม้า หอยแมลงภูดอง ปลากะตักทอดกรอบ กุ้งหวาน หมึกกะตอย และกุ้งแห้ง เป็นต้น.
จ.ประจวบฯ มีพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทยทุกอำเภอ มีความยาวชายฝั่งทะเล 224.8 กิโลเมตร มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ ชาวประมงประกอบอาชีพทางการประมงที่หลากหลายทั้งการประมงชายฝั่งแบบพื้นบ้านและประมงในเชิงพาณิชย์ มีเรือประมงด้วยเครื่องมือประมงพาณิชย์ 612 ลำ เรือประมงพื้นบ้าน 3,546 ลำ มีผู้ประกอบอาชีพการประมง 4,320 คน มีผู้ประกอบการต่อเนื่องเกี่ยวกับกิจกรรมประมงทะเล ได้แก่ แพปลา จำนวน 310 แพ ท่าเทียบเรือประมง 45 แห่ง ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือประมงพาณิชย์จำนวน 29 แห่ง ท่าเทียบเรือบริการน้ำ น้ำแข็ง 2 แห่ง ท่าจอดเรือประมง 9 แห่ง มีมูลค่าสัตว์น้ำจากการทำการประมง ปี 2564 จำนวนกว่า 3,081 ล้านบาท ที่ผ่านมา จ.ประจวบฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันยับยั้งและขจัดการทำประมงผิดกฎหมายมาโดยตลอด


บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari