- หน้าแรก
- ข่าว
โชว์ผลสำเร็จการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสาน
ข่าวที่ 96/2567 วันที่ 21 สิงหาคม 2567
โชว์ผลสำเร็จ จัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสาน เกษตรกรกำจัดและปรับใช้ได้เหมาะสมและถูกวิธี ลดการใช้สารเคมี ผลผลิตมีคุณภาพ ขยายตลาดส่งออก
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามผลการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติทดแทนสารเคมีทางการเกษตร มีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพ ซึ่งด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง ถือเป็นศัตรูพืชสำคัญ ที่ทำลายภายในเมล็ดของผลมะม่วง โดยในช่วงระหว่างปี 2561 - 2566 ได้พบด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง ในผลผลิตมะม่วงไทยที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐเกาหลี จากผลผลิตพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ฉะเชิงเทรา พิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร ส่งผลทำให้มะม่วงถูกสั่งทำลายทิ้ง สร้างความเสียหายให้ผู้ประกอบการส่งออก และเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงของไทย เนื่องจากถูกระงับนำเข้า มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการด้วงงวเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ระบาดเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และสามารถกำหนดรูปแบบการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
จากการลงพื้นที่ติดตามของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ตามโครงการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ พบว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ได้คัดเลือกแปลงปลูกมะม่วงที่พบการระบาดของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง จังหวัดละ 1 แปลง รวม 4 แปลง และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงส่งออกที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยจัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสาน ได้แก่ การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย การใช้พลาสติกสีเหลืองหรือฟิล์มยืดพันพาเลทพันรอบโคนต้นแล้วทาด้วยกาวเหนียวดักแมลง เพื่อป้องกันด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงขึ้นไปผสมพันธุ์ที่ช่อดอก และการใช้สารชีวภัณฑ์ (เชื้อราเมตาไรเซียม) อัตราส่วน 500 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อมะม่วง 10 ต้น ความถี่ 15 วันต่อครั้ง ในระยะติดผลอ่อน (หลังจากช่อดอกโรย) จนถึงมะม่วงเข้าไคล (เข้ากะลา) เพื่อกำจัดด้วงงวงเจาะเมล็ดวางไข่ในดิน การใช้ถังพลาสติกสีดำแขวนด้วยฟีโรโมนล่อด้วง และการใช้สารสกัดสะเดาฉีดพ่นในอัตราส่วน 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ความถี่ 7 วันต่อครั้ง และการห่อผลมะม่วงด้วยถุงคาร์บอน หลังเข้าร่วมโครงการ (ปีการผลิต 2567) พบว่า ปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดและป้องกันด้วงงวงเจาะลดลง เหลือเฉลี่ย 1.39 ลิตรต่อไร่ จากก่อนเข้าร่วมโครงการ (ปีการผลิต 2566) ที่มีการใช้สารเคมีเฉลี่ย 1.93 ลิตรต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 28) สำหรับค่าใช้จ่ายในการกำจัดและป้องกันด้วงงวงเจาะลดลง เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 901 บาทต่อไร่ จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,258 บาทต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 28) ซึ่งเป็นผลมาจากการนำสารสกัดสะเดาและสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุน มาใช้ในแปลงของตนเอง ร่วมกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ด้านผลผลิต พบว่า หลังเข้าร่วมโครงการฯ ผลผลิตมีคุณภาพ ความเสียหายจากการทำลายของด้วงงวงเจาะลดลง เหลือ 633.51 กิโลกรัมต่อไร่ จากปีก่อนที่พบผลผลิตเสียหาย 1,477.16 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 57) เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานอย่างเป็นระบบตลอดฤดูการผลิต ทำให้ไม่พบการระบาดของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง เป็นผลให้มะม่วงมีคุณภาพดีขึ้น ด้านราคา เกษตรกรจำหน่ายได้ราคาเพิ่มขึ้น โดยราคาเฉลี่ย 28.14 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาเฉลี่ยปีก่อน 18.21 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 55) และกลุ่มเกษตรกรมีการขยายแหล่งจำหน่ายผลผลิตจากโรงรับซื้อมะม่วง (ล้งมะม่วง) และตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ สู่โรงงานแปรรูปผลไม้ และส่งออกผลผลิตไปยังประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง จีน และตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ ภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติทดแทนสารเคมีทางการเกษตรในระยะต่อไป นอกจากการจัดทำแปลงเรียนรู้ และการสนับสนุนปัจจัยควบคุมศัตรูพืชแล้ว ควรขยายกลุ่มเป้าหมายการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานให้ครอบคลุมพื้นที่ระบาดอื่น ๆ ร่วมกับการส่งเสริมการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อลดปัญหาด้วงงวงเจาะกับมะม่วงที่ส่งออกไปยังปลายทาง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการตรวจรับรองมาตรฐานให้เข้มงวดขึ้น เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่พบการระบาด สามารถติดต่อขอคำแนะนำการป้องกันและจำกัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องในเบื้องต้นได้จากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช 9 ศูนย์ใกล้บ้านท่าน หรือติดต่อมายังกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เบอร์โทรศัพท์ 0 2940 6190
***********************************
ภาพ : ส่วนประชาสัมพันธ์ สศก.
|