ตรวจสอบความถุกต้องผลการแปลและวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม

วันที่ 8-17 และ 19-23 กันยายน 2563 นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 มอบหมายให้ นายนิรันดร ดาศรี นักวิชาการแผนที่ภาพถ่าย ส่วนสารสนเทศการเกษตร ลงพื้นที่ปฏิบัติราชการเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของผลการแปลและวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม (Map Accuracy) เนื้อที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยการสุ่มเลือกพื้นที่ตัวอย่าง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้สัดส่วนของความน่าจะเป็นตามขนาดเนื้อที่ (Probability Proportional to Size : PPS)ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมกับข้อมูลในสภาพพื้นที่จริง เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในขณะนั้น เช่น ชนิดพืช ช่วงระยะของพืช (อายุ) ลักษณะพื้นที่ การตรวจสอบภาคสนามในพื้นที่จริงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ขาดไม่ได้ก่อนที่จะมีการสรุปผลตีความ เพื่อนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ในภาคสนามมาตรวจสอบแก้ไขผลการแปลภาพให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและประเมินความถูกต้องโดยรวม (Overall Accuracy) ของแต่ละชนิดสินค้า ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี ได้ประยุกต์ใช้ Application MAPinr บนมือถือระบบแอนดรอยด์ เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงพื้นที่ตัวอย่าง ตลอดจนการจัดเก็บรายละเอียดต่างๆ ในพื้นที่ตัวอย่าง เช่น รูปภาพ พิกัดตำแหน่ง ข้อสังเกตุ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการลงพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตระหนักถึงความสำคัญทางด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ใช้ในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้มีฐานข้อมูลด้านการผลิตที่ถูกต้องและรวดเร็ว จึงได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo – Information) หรือ GI ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยี รีโมทเซนซิง ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) มาใช้ในการวิเคราะห์และจัดเก็บ เพื่อประเมินเนื้อที่เพาะปลูกก่อนฤดูกาล เก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นทางเลือกในการวางแผน หรือการจัดทำข้อมูลสารสนเทศการเกษตร