ข่าวที่ 130/2562 ผลสำเร็จโครงการจัดระบบน้ำเพื่อการเกษตร ปากน้ำประแสร์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 28 ล้านบาท

ผลสำเร็จโครงการจัดระบบน้ำเพื่อการเกษตร ปากน้ำประแสร์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 28 ล้านบาท
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณลุ่มน้ำประแสร์ ให้มีเพียงพอสำหรับส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยมีพื้นที่ชลประทานครอบคลุมเขตอำเภอวังจันทร์ อำเภอเขาชะเมา และอำเภอแกลง ของจังหวัดระยอง ซึ่งที่ผ่านมา โครงการฯ มีแหล่งน้ำต้นทุนที่เพียงพอทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าด้วยระบบท่อพร้อมทั้งหัวจ่ายน้ำสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แต่ยังไม่มีระบบแพร่กระจายน้ำสมบูรณ์ที่จะเข้าถึงทุกแปลงของเกษตรกรโดยตรง ดังนั้น กรมชลประทาน โดยสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 19 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบชลประทานระดับไร่นา (On Farm Irrigation) จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโดยการเชื่อมท่อส่งน้ำย่อยเข้ากับท่อส่งน้ำหลักเพื่อส่งน้ำเข้าสู่แปลงของเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะได้
จากการติดตามของ สศก. เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการฯ พบว่า มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,176 ไร่ เกษตรกร 113 ครัวเรือน โดยการก่อสร้างท่อส่งน้ำสายหลักและสายแยกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ ทำให้สามารถส่งน้ำได้ทั่วถึงทุกแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกษตรกรวางแผนใช้น้ำได้ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาพรวมเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด เพราะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตทุเรียนได้เหลือ 20,429 บาท/ไร่ จากเดิมเฉลี่ย 21,915 บาท/ไร่ (ลดลง 1,486 บาท/ไร่) สามารถเพิ่มผลผลิตได้เป็น 933 กก./ไร่ จากเดิม 815 กก./ไร่  (เพิ่มขึ้น 118 กก./ไร่) โดยเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จำนวน 28.91    ล้านบาท/ปี จากการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
ด้านนางอัญชนา  ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ เห็นได้ชัดว่าช่วยให้เกษตรกรได้รับผลผลิตอย่างเต็มที่ มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ร่วมกันวางแผนการจัดสรรน้ำ มีการจัดรอบเวรการใช้น้ำ และการดูแลรักษาระบบส่งน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มลดพื้นที่ปลูกยางพารา และปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนแล้ว 35.5 ไร่ เพราะมีระบบกระจายน้ำที่สมบูรณ์ จึงสามารถควบคุมปริมาณน้ำตามความต้องการของพืชได้ โดยเกษตรกรมีความต้องการให้มีการขยายพื้นที่ดำเนินการต่อไปในพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เตรียมขยายผลในบริเวณพื้นที่โครงการในระยะต่อไป โดยในปี 2563 มีแผนดำเนินการขยายพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณลุ่มน้ำประแสร์ ในระยะที่ 6 และ 7 โดยพัฒนาระบบท่อส่งน้ำเพิ่มเติมอีกประมาณ 2,000 ไร่ เพื่อช่วยสร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกร โดย สศก. จะได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อรายงานผลความก้าวหน้าให้ทราบในระยะต่อไป
 
*******************************

แหล่งข้อมูล

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล