ข่าวที่ 138/2562 ผลศึกษาเห็นชัด แปลงใหญ่ปลานิล ต้นทุนน้อย แต่กำไรมากกว่าการเพาะเลี้ยงแบบทั่วไป

ผลศึกษาเห็นชัด แปลงใหญ่ปลานิล ต้นทุนน้อย แต่กำไรมากกว่าการเพาะเลี้ยงแบบทั่วไป
นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ปลานิลในบ่อดิน ภายใต้โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล กรมประมง ณ 26 พฤศจิกายน 2562) พบว่า มีแปลงใหญ่ปลานิลในบ่อดินทั้งสิ้น 32 แปลง ครอบคลุม 21 จังหวัด รวมพื้นที่ 23,152 ไร่ จำนวนเกษตรกรทั้งสิ้น 2,204 ราย  โดย สศก. ได้ทำการศึกษา ศักยภาพการผลิตและการตลาดสินค้าปลานิล ในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่  เพื่อศึกษาต้นทุน ผลตอบแทนการผลิต ประสิทธิภาพการผลิต และช่องทางตลาดของเกษตรกรเปรียบเทียบทั้งในและนอกพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่  ซึ่งผลการศึกษา พบว่า
เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิต 34,139.67 บาท/ไร่/รุ่น  ผลผลิต 1,192.07 กิโลกรัม/ไร่  ราคาที่เกษตรกรขายได้ 42.19 บาท/กก.  ให้ผลตอบแทน 50,293.43 บาท/ไร่  คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 16,153.76 บาท/ไร่ หรือ 13.55 บาท/กก.
ในขณะที่เกษตรกรนอกพื้นที่แปลงใหญ่ จะมีต้นทุนการผลิต 42,079.63 บาท/ไร่/รุ่น  ผลผลิต 1,345.43 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 41.53 บาท/กก. ให้ผลตอบแทน 55,875.71 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร)  13,796.08 บาท/ไร่ หรือ 10.25 บาท/กก.
 
เปรียบเทียบต้นทุนการผลิต ผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ กับนอกพื้นที่แปลงใหญ่
รายการ พื้นที่แปลงใหญ่ นอกพื้นที่แปลงใหญ่
ต้นทุน  (บาท/ไร่/รุ่น) 34,139.67 42,079.63
ผลผลิต  (กิโลกรัม/ไร่) 1,192.07 1,345.43
ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ฟาร์ม (บาท/กก.) 42.19 41.53
ผลตอบแทน (บาท/ไร่) 50,293.43 55,875.71
ผลตอบแทนสุทธิ (บาท/ไร่) 16,153.76 13,796.08
ผลตอบแทนสุทธิ (บาท/กก.) 13.55 10.25
 
 
นางอัญชนา  ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จะเห็นได้ว่า ปลานิลที่ผลิตในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตร  แบบแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และมีผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าเกษตรกรนอกพื้นที่โครงการ จำนวน 2,357.68 บาท/ไร่  อย่างไรก็ตาม เกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่โครงการฯ ยังขาดการจัดสรรปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม เช่น ยังมีการปล่อยลูกพันธุ์น้อยกว่าอัตราปล่อยลูกพันธุ์ที่กรมประมงแนะนำ คือ 5,000 – 8,000 ตัวต่อไร่ และมีการใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรมีความสูญเปล่าจากการใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มากเกินไป  ดังนั้น เกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่โครงการฯ ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรปัจจัยการผลิตในการเลี้ยงให้เหมาะสม คือ อัตราการปล่อยลูกพันธุ์และปริมาณอาหารเม็ดสำเร็จรูปตามคำแนะนำจากกรมประมง และส่งเสริมกิจกรรมทางด้านการตลาดที่สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อนำไปสู่การแปรรูป และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ท่านที่สนใจผลการศึกษาเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจปศุสัตว์และประมง สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2561 3448 ในวันและเวลาราชการ
 
***********************************
 

แหล่งข้อมูล

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร