ด้านเศรษฐกิจการเกษตรต่างประเทศ
IFAD จัดการประชุม Online talks - Bridging research and policy responses to COVID-19
กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (International Fund for Agricultural Development: IFAD) ร่วมกับองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) และโครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ได้จัดการประชุม Online talks - Bridging research and policy responses to COVID-19 จัดโดย ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2563 เวลา 22.00 – 00.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่นในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายพูดคุยแลกเปลี่ยนการตอบสนองต่อผลกระทบของ COVID-19 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่า และการพัฒนาชุมชน ภายหลังวิกฤตการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส
การประชุมมีผู้เข้าร่วมอภิปรายจำนวน 9 ท่าน โดยบรรยายในมุมมองด้านนโยบาย จำนวน 5 ท่าน และด้านงานวิจัย จำนวน 4 ท่าน และมี Ms. Sara Savastano ผู้อำนวยการกองวิจัยและประเมินผลกระทบของ IFAD เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย รายละเอียดดังนี้
1. มุมมองด้านนโยบาย
1.1 Ms. Marie Haga ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายความสัมพันธ์ภายนอกและการกำกับดูแลของ IFAD บรรยายในหัวข้อ สิ่งอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือชุมชนที่ยากจน โดย IFAD ได้เตรียมการช่วยเหลือผู้ผลิตรายย่อยซึ่งถือเป็นผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก จำนวน 500 ล้านคน และมีโครงการให้ความช่วยเหลือมากกว่า 200 โครงการ ใน 92 ประเทศ โดยเน้นการช่วยเหลือในกระบวนการผลิต การเข้าถึงตลาด การให้ช่วยเหลือทางการเงิน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรผ่านทางบริการดิจิทัล
1.2 Mr. Maximo Torero หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้ช่วยอธิบดีกรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ FAO บรรยายในหัวข้อ การยับยั้งและผลกระทบของ COVID-19 ต่อภาคอาหารและการเกษตร โดยผลกระทบของ COVID-19 จะทำให้คนตกอยู่ในสภาพยากจนถึงขีดสุดมากถึง 89 - 177 ล้านคน ซึ่งส่งผลกระทบด้านความยากจนอย่างหนักต่อประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก นอกจากนี้ ผลกระทบต่อการจ้างงานจะมีมากขึ้นในธุรกิจอาหารแปรรูป การบริการด้านอาหารและบริการจัดจำหน่าย โดยจะต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มที่เปราะบางทันที เช่น ช่วยเหลือฉุกเฉินทางด้านอาหาร การแก้ไขปัญหาทางโภชนาการ การเพิ่มความช่วยเหลือในระบบประกันสังคม เพิ่มการเข้าถึงอาหารจากผู้ผลิตรายย่อย และการจัดการด้านนโยบายการค้าและมาตรการทางภาษี
1.3 Mr. Arif Husain หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการกองวิจัยการประเมินและควบคุมของโครงการอาหารโลก (WFP) ได้อภิปรายและให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายในการแก้ปัญหาของผลกระทบของ COVID-19 โดยเน้นให้ 1) เพิ่มความช่วยเหลือทางตรง เช่น ความช่วยเหลือทางการเงิน โครงการอาหารโรงเรียน ความช่วยเหลือแก่แม่และเด็ก 2) เพิ่มความช่วยเหลือโครงการคุ้มครองทางสังคมแห่งชาติ 3) อำนวยความสะดวกทางการค้าและลดการกีดกันทางการค้า 4) ช่วยเหลือผู้ผลิตให้สามารถดำเนินการผลิตอาหารและสามารถผลิตอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ
1.4 Mr. Gero Carletto ผู้จัดการการวิจัยกลุ่มข้อมูลของธนาคารโลก ได้บรรยายในหัวข้อ ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยและกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองต่อ COVID-19 โดยการวิจัยต้องใช้ทางเลือกอื่นในการเก็บข้อมูลและแหล่งข้อมูลใหม่ในการวัดผลกระทบ เช่น ใช้เครื่องมือการเก็บแบบสำรวจทางโทรศัพท์คลื่นความถี่สูง (High-frequency phone surveys: HFPS) แทนการเก็บแบบสำรวจตัวต่อตัว ซึ่งมีการสุ่มข้อมูลจากเบอร์โทรศัพท์ที่ได้จากบริษัทโทรศัพท์ แล้วใช้วิธีการโทรสุ่ม (Random digit dialing) อย่างไรก็ตามแม้ว่าเครื่องมือ HFPS จะมีประสิทธิภาพแต่มีข้อจำกัดในการเก็บรวบรวมเนื้อหา การเข้าถึงครอบครัวที่ยากจนในชนบท และไม่ได้รับการตอบรับการเข้าร่วมสูง
1.5 Mr. Jo Swinnen ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ (IFPRI) ได้บรรยายในหัวข้อ ความมั่นคงทางด้านอาหารและภาวะโภชนาการต่อ COVID-19 โดยอธิบายว่า COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจและระบบของอาหาร ซึ่งต้องให้ความสำคัญทั้ง 2 ประเด็นนี้ โดยจะต้องคำถึงผู้ที่ยากจนที่สุด และคำนึงถึงเพศและภาวะโภชนาการในการกำหนดนโยบายตอบสนอง ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องเข้าใจว่าผลกระทบในห่วงโซ่อุปทานจะแตกต่างกันตามความเปราะบางและการปรับตัวของหน่วยต่างๆ โดยควรมีการปรับห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้มีกิจกรรมของผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ และยังได้บรรยายแนวทางในการจัดการวิกฤต COVID-19 และระบบของอาหารในอนาคต
2. มุมมองด้านงานวิจัย
2.1 Mr. Marc Bellemare ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมินิโซตา ได้บรรยายถึงมุมมองของการระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบร่วมต่อระบบของอาหาร ไว้ 2 ประเด็น คือ 1) ความเสี่ยงและการประกันภัย โดยต้องมีโครงการประกันภัยสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบของอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ และให้หลักประกันที่ชัดเจน เพื่อลดการหยุดชะงักและเพิ่มความเข้มแข็งของระบบของอาหาร 2) ในทางเศรษฐมิติประยุกต์ ผลกระทบที่ไม่ได้คาดคิดของนโยบายตอบโต้ (มาตรการปิดเมือง) ต่อการแพร่ระบาด สามารถช่วยงานวิจัยเชิงประจักษ์ เช่น การศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดด้วยเทคนิคทางสถิติ Difference-in-Difference (DID) ในด้านระบบของอาหาร และข้อมูลตัวแปรภายนอกที่กระทบต่อระบบของอาหาร
2.2 Mr. Scott Rozelle ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้บรรยายถึงการศึกษาผลกระทบของ COVID-19 ต่อผู้อาศัยในชนบท 600 ล้านคนในประเทศจีน ผลการศึกษาพบว่าแม้ว่ามาตรการกักตัวจะผ่อนคลายลง แต่การจ้างงานในพื้นที่ชนบทยังคงต่ำมาก โดยในเดือนเมษายน 2563 มีผู้กลับไปทำงานเพียงร้อยละ 46 ของจำนวนทั้งหมด และรายได้ของครอบครัวในพื้นที่ชนบทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประมาณร้อยละ 15-20 ของรายได้เฉลี่ยทั้งปี ซึ่งคนในชนบทมีการปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารมากที่สุด โดยลดลงประมาณร้อยละ 55 นอกจากนี้ คนในชนบทยังพยายามลดผลกระทบจากการปิดโรงเรียนด้วยการเรียนออนไลน์ แต่มีข้อจำกัดจากการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารกับครูในห้องเรียนออนไลน์
2.3 Mr.David Zilberman ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้บรรยายผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลกระทบของ COVID-19 และภัยธรรมชาติ โดยพบว่าผลกระทบจาก COVID-19 และภัยธรรมชาติไม่มีความสัมพันธ์กัน อีกทั้งผลกระทบของ COVID-19 ในทางตรงมีความรุนแรงในเมืองมากกว่าชนบท และในทางอ้อมมีความรุนแรงในชนบทมากกว่า เนื่องจากการสร้างระยะห่างทางสังคมส่งผลต่อชุมชนในชนบทและระบบของอาหารมากกว่า เนื่องจากราคาผลผลิตที่ต่ำลงและจำนวนแรงงานที่ลดลง ในทางกลับกัน ผลกระทบของภัยแล้งในชนบทมีมากกว่าในเมือง เนื่องจากผลกระทบของภัยแล้งจำกัดเฉพาะในผู้ที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับโครงการประกันสังคมที่สามารถจัดสรรทรัพยากรให้แก่ประชาชนได้โดยตรงเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าว
2.4 Mr. Tom Reardon ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต บรรยายในหัวข้อ การแพร่หลายของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการกระตุ้นโดย COVID-19 ในภูมิภาคที่กำลังพัฒนา โดยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นคลื่นลูกที่สองของการเปลี่ยนแปลงการค้าปลีกที่ถูกกระตุ้นจาก COVID-19 (ตลาดสรรพสินค้าขนาดใหญ่เป็นคลื่นลูกแรก) ความต้องการหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสกระตุ้นการซื้อสินค้าผ่านทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แทนร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และตลาดสรรพสินค้าขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในบางสินค้า เช่น สินค้าเกษตรชุมชน จะมีข้อจำกัดในการเพิ่มการขนส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคในชุนชนเมือง เกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจึงยังคงต้องพึ่งพาตลาดขายส่ง การจัดซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตลาดสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด
เรียบเรียงโดย
นางกนกวรรณ ชูวิเชียร
กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ