ด้านการวิจัย

การผลิต การตลาดพุทรานมจังหวัดกาฬสินธุ์

การศึกษาการผลิต การตลาดพุทรานมจังหวัดกาฬสินธุ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนรวมทั้งวิถีการตลาดและส่วนเหลื่อมการตลาดพุทรานมจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกพุทรานมจำนวน 136 ตัวอย่าง พ่อค้า/ผู้รวบรวมจำนวน 6 ตัวอย่าง และสหกรณ์การเกษตรจำนวน 1 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่า ด้านการผลิต เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตรวมเฉลี่ยไร่ละ 30,373.62 บาท จำแนกเป็นต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ เฉลี่ยไร่ละ 24,920.26 บาท และ 5,453.66 บาท คิดเป็นร้อยละ 82.05 และร้อยละ 17.95 ของต้นทุนรวม ตามลำดับ โดยเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 4,619.39 กิโลกรัม คิดเป็นต้นทุนต่อกิโลกรัม 6.58 บาท และราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 18.77 บาท ดังนั้น เกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 86,705.95 บาท ได้รับผลตอบแทนสุทธิหรือกำไรเฉลี่ยไร่ละ 56,332.33 บาท หรือคิดเป็นกิโลกรัมละ 12.19 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของต้นทุนผันแปร พบว่า ค่าแรงงานเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 39.05 ของต้นทุนรวมต่อไร่ สำหรับต้นทุนคงที่ พบว่า ค่าเสื่อมอุปกรณ์การเกษตรเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 8.63 ของต้นทุนรวมต่อไร่
ด้านวิถีการตลาด พบว่า เกษตรกรเก็บเกี่ยวพุทรานมในรูปแบบของผลผลิตพุทราผลสดทั้งหมดและนำไปจำหน่ายให้กับพ่อค้า/ผู้รวบรวมร้อยละ 82 ร้านค้าปลีกในพื้นที่ร้อยละ 5 และสหกรณ์การเกษตรฯ ร้อยละ 13 จากนั้นพ่อค้า/ผู้รวบรวมจะจำหน่ายต่อไปที่ตลาดต่างจังหวัดร้อยละ 52.02 ตลาดกรุงเทพฯ ร้อยละ 29.63 และส่งออกไปที่ตลาดต่างประเทศร้อยละ 0.35 ส่วนร้านค้าปลีกในพื้นที่จะนำผลผลิตทั้งหมดมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคภายในจังหวัดส่วนสหกรณ์การเกษตรฯ จำหน่ายต่อไปยังผู้บริโภคผ่านทางบริษัทขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ และ Supermarket ร้อยละ 1.94 จำหน่ายตลาดต่างจังหวัดร้อยละ 6.63 และตลาดกรุงเทพฯ ร้อยละ 4.43 ด้านส่วนเหลื่อมการตลาด พบว่า สหกรณ์ฯ จำหน่ายไปยังบริษัทขนส่งมีส่วนเหลื่อมการตลาดมากที่สุด เท่ากับ 19.90 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 48.22 ของราคาที่สหกรณ์ได้รับจากบริษัทขนส่ง และพ่อค้า/ผู้รวบรวมจำหน่ายไปยังผู้ค้าในตลาดกรุงเทพฯ
มีส่วนเหลื่อมการตลาดน้อยที่สุดเท่ากับ 2.86 คิดเป็นร้อยละ 11.80 ของราคาที่พ่อค้า/ผู้รวบรวมได้รับจากผู้ค้าในตลาดกรุงเทพฯ และเมื่อพิจารณากำไรสุทธิของผู้ประกอบการ ที่จำหน่ายไปยังตลาดต่างๆ พบว่า สหกรณ์มีกำไรสุทธิ มากที่สุด เท่ากับ 18.72 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 45.36 ของราคาที่สหกรณ์ได้รับจากบริษัทขนส่ง
จากการศึกษาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะในด้านการผลิต กล่าวคือภาครัฐควรส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสนับสนุนองค์ความรู้และเครื่องมือเครื่องจักรให้กับเกษตรกร ส่วนในด้านการตลาด ภาครัฐควรให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องการขายในตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่ม
ช่องทางการจำหน่ายและบรรเทาปัญหาแนวโน้มผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ
 


บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari