ด้านสถิติ

ระเบียบวิธีและการกำหนดตัวอย่าง การสำรวจราคา

ระเบียบวิธีและการกำหนดตัวอย่าง

3.1 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลราคาที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา
3.1.1  เก็บรวบรวมทุกสัปดาห์ โดยมีสัปดาห์อ้างอิงข้อมูลราคาคือ วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์
3.1.2 วันที่ใช้อ้างอิงข้อมูลราคาคือวันจันทร์  เนื่องจากราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือจะต้องอ้างอิงวันที่เก็บรวบรวมในวันเดียวกัน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเก็บข้อมูลหลายแหล่งไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบหรือนำมาเฉลี่ยด้วยกันได้
3.1.3  เก็บรวบรวมข้อมูลในวันจันทร์ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต หรือผู้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขตมอบหมายให้เป็นผู้รวบรวม ได้แก่ เศรษฐกิจการเกษตรท้องถิ่น (ศกท.) ตามแบบรายงานราคาที่กำหนด
3.1.4  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต รายงานข้อมูลราคาระดับจังหวัดให้กับศูนย์สารสนเทศการเกษตร ไม่เกินวันจันทร์ ภายในเวลา 16.00 น. ของแต่ละสัปดาห์ ผ่านโปรแกรมที่ได้กำหนดไว้แล้ว
3.1.5 วิธีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าเกษตร โดยการสัมภาษณ์จากแหล่งรับซื้อ        ที่เชื่อถือได้และสามารถให้ข้อมูลต่อเนื่องตลอดฤดูการซื้อขายแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต เป็นผู้คัดเลือกแหล่งรับซื้อตามชนิดสินค้าที่ผลิตได้ในแต่ละจังหวัด     



3.1.6  เก็บรวบรวมเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในท้องถิ่นและเป็นสินค้าที่สำคัญของจังหวัดตามเกรดมาตรฐานที่กำหนด แหล่งจัดเก็บข้อมูลราคาสินค้าเกษตรซึ่งมีหลายแหล่งได้แก่

1)  พ่อค้ารวบรวม
2)  ร้านค้ารับซื้อผลผลิต
3) ตลาดกลางประจำตำบล
4) ฟาร์ม สุกร สัตว์ปีก
5) ตลาดกลางโคกระบือ
6) ตลาดกลางผลไม้
7) ตลาดกลางผัก
8) บ่อกุ้ง - บ่อปลา
9) แพปลา - ประมงทะเล
10) โรงงานอุตสาหกรรมเกษตร โรงสี ลานมัน โรงงานแป้งมัน โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานสกัดน้ำมัน
11) ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ ซึ่งมีทั้งเอกชนและหน่วยราชการจัดตั้ง เช่น กระทรวงพาณิชย์จัดตั้ง
12) สหกรณ์การเกษตร
13) กลุ่มเกษตรกร, กลุ่มสหกรณ์
14) ตลาดกลางยางพารา

3.1.7 ราคาที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา อนุโลมให้เท่ากับราคาเฉลี่ย ณ แหล่งรับซื้อหักด้วย     ค่าขนส่งเฉลี่ย เนื่องจากในทางปฏิบัติไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลราคาจากเกษตรกรแต่ละราย   ได้อย่างต่อเนื่องเพราะเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยผลิตได้ไม่มากขายเพียงไม่กี่ครั้งผลผลิตก็หมด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจุดจัดเก็บบ่อย ๆ จะทำให้ไม่ทราบว่าราคาที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละครั้ง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การตลาดหรือเกิดจากค่าขนส่งที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบหรือนำมาเฉลี่ยด้วยกันได้จึงพิจารณากำหนดให้จัดเก็บจากแหล่งรับซื้อผลผลิตที่เชื่อถือได้และมีการซื้อขายที่ต่อเนื่อง

3.1.8  เกรดหรือคุณภาพสินค้าที่จัดเก็บ จะต้องเป็นสินค้าเกรดเดียวกันกับเกรดมาตรฐานที่กำหนด
3.1.9 หน่วยผลผลิต จะต้องเป็นหน่วยที่ซื้อขายมาตรฐาน  ถึงแม้ในบางท้องที่จะมีหน่วยการซื้อขายที่แตกต่างออกไปจากหน่วยมาตรฐาน เช่น การซื้อขายข้าวเปลือกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกหน่วยซื้อขายผลผลิตเป็นหมื่น ซึ่งหนึ่งหมื่น มีน้ำหนักเท่ากับ 12 กิโลกรัม  ฉะนั้นผู้จัดเก็บ    ข้อมูลต้องแปลงหน่วยผลผลิตให้ตรงกับหน่วยซื้อขายมาตรฐานตามที่กำหนด ดังรายละเอียดภาคผนวกที่ 5
3.1.10 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต ทำการประมวลผล ตรวจสอบความถูกต้องและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นระดับจังหวัดก่อนส่งให้กับศูนย์สารสนเทศการเกษตร
3.1.11 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต จะต้องสอบถามภาวะตลาดเพื่ออธิบายสาเหตุ    การเปลี่ยนแปลงข้อมูลราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงของแต่ละจังหวัด
3.1.12 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต จะต้องจัดระบบตรวจสอบโดยให้เจ้าหน้าที่ออกไปพบปะกับ ศกท. และแหล่งข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนประสานสัมพันธ์กับผู้ให้ข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นประจำ
3.1.13 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต จะต้องรวบรวมแหล่งจัดเก็บข้อมูลราคารายสัปดาห์ พร้อมชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อได้ เพื่อสะดวกแก่การตรวจสอบ  ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงแหล่งจัดเก็บข้อมูลใหม่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขตจะต้องแจ้งให้           ศูนย์สารสนเทศการเกษตร ทราบทุกครั้ง
3.1.14  การกำหนดตัวอย่าง ในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นารายสัปดาห์ กำหนดให้จัดเก็บจากแหล่งรับซื้อที่เชื่อถือได้และสามารถให้ข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลซื้อขายจังหวัดละ 2  อำเภอ ๆ  ละ 2  ตัวอย่าง หรือไม่น้อยกว่า 4  ตัวอย่างต่อสินค้าต่อจังหวัด
3.1.15  แบบรายงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต ต้องสร้างแบบรายงานราคาให้ผู้รายงานราคา ซึ่งควรจัดทำขึ้นย่างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีลำดับการสอบถามตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและมีคำนิยามที่ชัดเจนเป็นมาตรฐาน โดยแบบสำรวจแบ่งออกเป็น 6 รายการ ดังนี้

1) ชื่อและเกรดสินค้า  เป็นส่วนที่ใช้บันทึกชื่อเกรดสินค้าที่มีการซื้อขาย ตามชนิดและเกรดที่กำหนด
2) หน่วยของผลผลิตเป็นหน่วยน้ำหนักหรือปริมาณของผลผลิตที่เกษตรกรขายได้ เช่นบาทต่อกิโลกรัม, บาทต่อตัน, บาทต่อเกวียน, บาทต่อผล, บาทต่อร้อยฟอง, บาทต่อตัว  เป็นต้น
3) ราคาสัปดาห์นี้ ที่ไร่นา และจุดรับซื้อ
4) ราคาสัปดาห์ที่แล้วที่ไร่นา และจุดรับซื้อ
5) เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคาเปรียบเทียบระหว่างสัปดาห์นี้กับสัปดาห์ที่แล้ว
6) สาเหตุเพิ่มขึ้น–ลดลงของราคา เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว

3.2 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลราคารายวันที่ตลาดกลางและ/หรือตลาดสำคัญ
3.2.1 เก็บทุกวันราชการ เฉพาะสินค้าสำคัญ หรือเป็นสินค้าที่มักมีปัญหาราคาตามฤดูกาลในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ
3.2.2 เป็นราคารับซื้อที่ตลาดกลางและ/หรือตลาดสำคัญ ที่ให้ความร่วมมือและเชื่อถือได้
3.2.3 เป็นราคารับซื้อส่วนใหญ่ในรอบวัน
3.2.4 สศข.เก็บรวบรวมราคาและรายงานโดยโปรแกรมทีได้กำหนดไว้แล้ว ศสส.ภายในเวลา 12.00 น. ทุกวันราชการ



บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari