กิจกรรม 5ส
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2567
วันที่ 10 มกราคม 2567 นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 (ผอ.สศท.1) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีวาระเพื่อทราบ ได้แก่ การติดตามตามสถานการณ์น้ำ สถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ด้านพืช ไม้ผล ประมงและปศุสัตว์ รวมถึงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารรภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 และการป้องกันและแก้ไข้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ด้านการเกษตร ในการนี้ ผอ.สศท.1 ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 จังหวัดเชียงใหม่ ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 1.3 เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุน และราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตสาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.1 เนื่องจากกิจกรรมการเตรียมดินปลูกและกิจกรรมการเก็บเกี่ยวผลผลิตของการผลิต ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม และหอมแดง ซึ่งมีเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตเพิ่มขึ้น และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากแผนการตัดไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ไม้เพิ่มขึ้น ในขณะที่สาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 0.4 จากเกษตรกรภาคปศุสัตว์ มีการบริหารจัดการฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) อย่างไรก็ตามเกษตรกรประสบปัญหาภาวะต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ปรับลดการผลิตและสาขาประมง หดตัวร้อยละ 7.5 จากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับมีการนำเข้าปลานิลจากต่างจังหวัด ส่งผลให้เกษตรกรปรับตัว ลดกำลังผลิต แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 ภาคการเกษตร คาดว่าจะอยู่ในช่วง (-0.4)% - 0.6% สาขาพืช คาดว่าจะอยู่ในช่วง (-0.4)% - 0.6% สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะอยู่ในช่วง (-0.3)% - 0.7% สาขาประมง คาดว่าอยู่ในช่วง (-0.7)% - 0.3% สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.4% - 2.4% และสาขาป่าไม้ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.3% - 1.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ได้แก่ 1) สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต 2) การขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตร อาทิ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริการจัดการสินค้าเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ส่งผลดีต่อการผลิตทางการเกษตร 3) การบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์และประมงที่ดี 4) เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ภาวะฝนทิ้งช่วง และปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิด โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ ยังอยู่ในระดับสูง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=zone1chm&set=a.686020423700889