ประวัติความเป็นมา

ปี 2495 พระราชกฤษฎีกา จัดตั้ง “กองเศรษฐกิจการเกษตรและที่ดิน” ขึ้นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร แบ่งงานออกเป็น 2 แผนกคือ แผนกการใช้ที่ดินและแผนกค้นคว้าและสถิติ

ปี 2497 มีพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนแปลงชื่อเป็น “กองเศรษฐกิจการเกษตร” แบ่งงานออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกเศรษฐกิจการผลิต แผนกประมวลสถิติการเกษตร และแผนกสำรวจค้นคว้า

ปี 2500 มีพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงกองเศรษฐกิจการเกษตรโดยจัดตั้งแผนกเพิ่มอีก 2 แผนก คือ แผนกควบคุมโครงการ และแผนกวิพากษ์ผลิตผลเกษตรกรรม

ปี 2515 กองเศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจการเกษตรขึ้นโดยใช้ตัวแปร ต่างๆ เช่น ชนิดของดินตาม Great Soil Group การกระจายของน้ำฝน อุณหภูมิ ชนิดของพืชต่างๆ ที่ปลูก ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของข้าว พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และสัดส่วนของรายได้ของเกษตรกรในแต่ละจังหวัด จากตัวแปรชนิดต่าง ๆ ดังกล่าว ได้แบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็น 19 เขต เรียกว่าเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Agro-Economic Zone) และในปีเดียวกัน ก็ได้มีประกาศคณะปฏิวัติปรับปรุงส่วนราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรโดย แยก “แผนกควบคุมโครงการ” ออกจากกองเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อยกฐานะเป็น “กองแผนงาน” พร้อมกับมีการกำหนดการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจของไทยอีกเป็น 19 เขต

ปี 2516 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้ง “ศูนย์สถิติการเกษตร” ขึ้นในกองเศรษฐกิจการเกษตร ทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางการเกษตรทุกชนิด

ปี 2520 มีคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบ่งงานและจัดอัตราข้าราชการ ลูกจ้าง ในกองเศรษฐกิจการเกษตร โดยแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายประสานงานเศรษฐกิจการเกษตร ฝ่ายนโยบายและวางแผนการเกษตร ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร และศูนย์สถิติการเกษตร

24 มีนาคม 2522 มีพระราชบัญญัติยกฐานะกองเศรษฐกิจการเกษตรขึ้นเป็น “สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร” ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรออกเป็น 6 กอง ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร กองประเมิน กองแผนงาน กองวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร และศูนย์สถิติการเกษตร

คำว่า “เขตเกษตรเศรษฐกิจ” ตามพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 หมายความว่า เขตการผลิตทางการเกษตร ซึ่งรวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ และการปลูกป่า ที่กำหนดขึ้นให้เหมาะสมกับภาวการณ์ตลาด และเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย โดยคำนึงถึงสภาพที่คล้ายคลึงกันของปัจจัยหลัก เช่น ดิน ฟ้า อากาศ แหล่งน้ำ พืชที่ปลูก สัตว์เลี้ยง ประเภทของเกษตรกรรม และรายได้หลักของเกษตรกร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการปรับปรุงงานเขตเกษตรเศรษฐกิจใหม่ โดยส่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานครบทุก 19 เขตฯ และให้เขตฯ อยู่ในบังคับบัญชาของเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร วัตถุประสงค์ของการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปประจำเขตฯ ต่างๆ ตามแนวคิดของผู้บริหารในขณะนั้น ก็เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกไปปฏิบัติ งานในภูมิภาค และเป็นตัวแทนของสำนักงานฯ ในภูมิภาค โดยพยายามจำลองรูปแบบการทำงานของสำนักงานฯ ให้เขตฯ ปฏิบัติในภูมิภาค

ปี 2530 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การจัดแบ่งพื้นที่เขตเกษตรเศรษฐกิจจาก 19 เขต มาเป็น 24 เขต มีสภาพเป็นหน่วยงาน 24 หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นการภายในสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็น “ตัวแทน” สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ไปจัดตั้งในส่วนภูมิภาค และได้มีการกำหนดให้มีภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นจากเดิมที่นอกเหนือจากการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลการเกษตร คือ การศึกษาวิเคราะห์เศรษฐกิจการเกษตรของสินค้าเกษตรในท้องถิ่น การติดตามประเมินผลร่วมกับส่วนกลาง และการประสานแผนพัฒนาระดับจังหวัด รวมทั้งการวิเคราะห์แผนพัฒนาการเกษตรตามสภาพทรัพยากรในพื้นที่

ปี 2539 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยแบ่งออกเป็น 2 กอง 3 สำนัก ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองประเมินผล ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร และสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

ปี 2545 ภายใต้การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2545 จึงทำให้การแบ่งส่วนราชการเขตเกษตรเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมมี 24 เขต มาจัดตั้งเป็น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1-9 ซึ่งมีฐานะเป็นสำนัก

ปี 2556 ได้แบ่งพื้นที่เพิ่มอีก 3 เขต เป็นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1-12

ปี 2557 ได้มีการแบ่งเขตใหม่ออกเป็น 18 เขตตามเขตพื้นที่ตรวจราชการ เป็นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1-18

ปี 2558 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต ... เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ... โดยยังมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิม และชื่อภาษาอังกฤษยังคงเดิม

เดือนตุลาคม ปี 2559 ได้ยุบเลิกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 13-18 กลับไปรวมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ดังเดิม

ปัจจุบันสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่ในจังหวัด พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน โดยสำนักงานหลักตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก
บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari