สศท.2 ร่วมประชุมตรวจราชการของ ผตร.กษ. รอบที่ 1 ปี 67 จ.น่าน

วันที่ 7 - 9 มีนาคม 2567 นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 (ผอ.สศท.2 พิษณุโลก) มอบหมายให้นางสุธาทิพย์  ศรีสรรพกิจ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ เข้าร่วมประชุมตรวจติดตามการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามแผนการตรวจราชการ และการขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบที่ 1 เขตตรวจราชการที่ 16 ณ ศาลากลางจังหวัดน่าน โดยมีนางสาวนนทิชา วรรณสว่าง ผู้ตรวจราชการ กษ. เขตที่ 16 เป็นประธานการประชุม รวมทั้งร่วมลงพื้นที่ 5 จุดได้แก่ 1) เกษตรกรต้นแบบปลูกผักในโรงเรือน ของนายเสนอ กานนท์ หมู่ที่ 5 ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข 2) ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชท่าวังผา 3) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก หมู่ที่ 7 ตำบลป่ากลาง อำเภอปัว 4) เยี่ยมชมแปลงโกโก้อินทรีย์ และการแปรรูปช็อกโกแลต ณ โกโก้ วัลเล่ย์ ตำบลปัว และ 5) กลุ่มวิสาหกิจชีววิถีสมุนไพรบ้านน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง  

ในการนี้ท่านผู้ตรวจฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานของเกษตรกรต้นแบบให้เป็นที่รู้จัก ผ่านช่องทาง Social ต่างๆ
2. สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้กับเกษตรกร/กลุ่มที่เข้มแข็งอยู่แล้วให้สามารถดำเนินกิจกรรมการผลิตได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบต่อไป
3. การปรับปรุงระบบศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช หาก สป.กษ.จัดประชุมออนไลน์ขอให้ทุกหน่วยงานเข้าร่วมและเสนอข้อคิดเห็นให้เต็มที่ เพื่อพัฒนาระบบที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ได้ และพัฒนาเป็น Application ที่สามารถดาวน์โหลดผ่านมือถือ รวมทั้งมีระบบแจ้งเตือนขั้นตอนดำเนินงานผ่าน App เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงง่าย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ศูนย์ฯ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
4. จัดทำแผนพัฒนารายสินค้ามูลค่าสูง 3 ชนิด (กาแฟ มะม่วงน้ำดอกไม้ และลำไย) โดยบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ตลอดห่วงโซ่
5. การเชื่อมโยงองค์ความรู้กับสถาบันการศึกษาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้ามะม่วง และนำเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาบริหารจัดการแปลงโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่
6. ให้มุ่งเน้นขับเคลื่อนสินค้าเกษตรที่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการตลาด และมีคุณภาพมาตรฐาน อาทิ สินค้า organic
7. ให้หน่วยฝนหลวงวางแผนดำเนินการทำฝนหลวงโดยพิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ ไม่ต้องรอให้เกษตรกร/หน่วยงานร้องขอ
8. การขุดสระน้ำในไร่นาให้ พด.จัดทำสื่อหลักเกณฑ์การยื่นคำขอ แล้วประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบอย่างทั่วถึง
9. การอบรมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ควรทดสอบความรู้เบื้องต้นเพื่อประเมินความสามารถก่อน แล้วจึงกำหนดหลักสูตรที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร
10. โครงการการสร้างทายาทหม่อนไหม เน้นย้ำให้ดำเนินการในโรงเรียนที่มีความต้องการ และมีความพร้อมทั้งพื้นที่ ครู และนักเรียน
11. การขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ ขอให้หน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานในพื้นที่โครงการเพิ่มเติมข้อมูลด้วย (ศวพ./ศูนย์ภูฟ้าฯ/สนง.ตรวจบัญชีสหกรณ์)
12. สำหรับการตรวจราชการในรอบที่ 2 ขอให้ทุกหน่วยงานจำแนกงบประมาณปี 2566 พลางก่อน กับงบประมาณปี 2567 ว่าได้รับเท่าไหร่ มีผลการเบิกจ่ายแล้วเท่าไหร่ และให้ทุกหน่วยงานประสานกับแผนงานของกรมเพื่อเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จทันภายในเดือนกันยายน 2567           

นอกจากนี้ ยังให้รายงานปัญหาอุปสรรค หรือรูปแบบวิธีการดำเนินกิจกรรมโครงการเพื่อให้สามารถตอบสนองกับความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง

ภาพ/ข่าว : คณะทำงานประชาสัมพันธ์ สศท.2 (พิษณุโลก)


บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari