ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวผู้บริหาร

ผอ.สศท.2 และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมประชุมปรับปรุงข้อมูลประมาณผลผลิต และติดตามข้อมูลการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตสับปะรด 7 จังหวัดภาคเหนือ

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 (ผอ.สศท.2 พิษณุโลก) พร้อมด้วยนางสาวปริยาพร เสนกาศ นักวิชาการสถิติชำนาญการพิเศษ สศท.1เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ส่วนสารสนเทศการเกษตร สศท.2 ร่วมประชุมวางแผนติดตามข้อมูลการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตสับปะรดโดยผลักดันให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น ครั้งที่ 3 ผ่านระบบออนไลน์ Application  Zoom   โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งสำนักงานพาณิชย์จังหวัด  ในแหล่งผลิตสับปะรด 7 จังหวัด ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เพื่อรับทราบสถานการณ์การผลิต การตลาดสับปะรด และปรับปรุงข้อมูลประมาณการในแหล่งผลิตสำคัญของภาคเหนือปี 2567 ที่จะนำไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการการผลิตและการตลาด  พร้อมทั้งรับทราบผลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการสร้างมูลค่าเพิ่มของสับปะรดในแปลงเกษตรกรต้นแบบ เพื่อผลักดันให้เป็นสินค้าเกษตรอัตลักษณ์  

สศท.2 มีแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และพิษณุโลก โดยทั้งสองจังหวัดยังคงตัวเลขประมาณการผลิตสับปะรด ปี 2567  ดังนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์จะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 11,014 ไร่  ปริมาณผลผลิตรวม 33,177 ตัน  ผลผลิตต่อไร่ 3,012 กิโลกรัม/ไร่  ผลผลิตออกมากที่สุดในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม (ร้อยละ34.07 และ 26.80) จังหวัดพิษณุโลก จะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 23,650 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 75,156  ตัน   ผลผลิตต่อไร่ 3,178 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตออกมากที่สุดในเดือนมิถุนายน  (ร้อยละ 24.83 )  โดยเดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่มีสัดส่วนผลผลิตออกมากที่สุดในทุกจังหวัดของภาคเหนือ  แต่คาดว่าจะไม่เกิดปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากปีนี้สถานการณ์ราคาดีต่อเนื่อง แต่ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบให้ปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรในแต่ละแหล่งผลิตผลิตได้ลดลงมาก  ในขณะที่ความต้องการวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยังมีต่อเนื่อง

ในการประชุมครั้งนี้  ผอ.สศท.2 ได้นำเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นใน 2 ประเด็น  ได้แก่

1) การปรับเปลี่ยนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์อาจทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงมากอาจส่งผลต่อการพิจารณาประมาณการตัวเลขผลผลิตต่อไร่ของสับปะรดในปีต่อไป จากการสอบถามเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ในแหล่งผลิตสับปะรดในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สศท. 2 ทราบว่า จากปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสับปะรดที่เพิ่มสูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยเคมี สารเคมี และฮอร์โมนต่างๆ ขณะนี้มีเกษตรกรบางส่วนปรับลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีโดยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม  #ในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีอาจทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงมาก จึง #ขอให้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอช่วยให้ความรู้และพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ด้วย  เพราะอาจส่งผลต่อการพิจารณาประมาณการตัวเลขผลผลิตต่อไร่ของสับปะรดในปีต่อไป   โดยที่ประชุม มีมติรับทราบ และในการลงพื้นที่ของ สสก.6 เชียงใหม่ที่จะถึงนี้ จะลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อตรวจสอบปริมาณและคุณภาพผลผลิตในแปลงที่ใช้ปุ๋ยเคมีปกติ กับแปลงที่ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและใช้อินทรีย์แทนด้วย

2)การบูรณาการหน่วยงานด้านการวิจัยและสถาบันการศึกษาในระดับพื้นที่ส่งเสริมการจัดทำฉลากคาร์บอน และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป “Zero Waste” จะช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งออกสับปะรดบริโภคสดจากแหล่งผลิตภาคเหนือได้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการส่งออก ที่ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้ามักกำหนดมาตรการที่มิใช่ภาษีมาจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรในหลากหลายรูปแบบและหลายชนิดสินค้ามากขึ้น อาทิ การปล่อยคาร์บอน การผลิตในพื้นที่ป่า การใช้แรงงานเด็ก/สัตว์ ฯลฯ   หากภาคเหนือยังคงมีแผนเพิ่มสัดส่วนการปลูกสับปะรดปัตตาเวียเพื่อบริโภคสดและตัดแต่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกมากขึ้น #ควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดทำฉลากคาร์บอน และทราบว่า ในปี 2567 จังหวัดเชียงราย โดยมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทำวิจัยเชิงพื้นที่เกี่ยวกับการประเมินคาร์บอนฟุตปรินท์ในห่วงโซ่การผลิต เพื่อทำฉลากส่งเสริมศักยภาพการส่งออกของสับปะรดภูแล จ.เชียงราย ที่ปอกผลสดจำหน่ายต่างประเทศ  โดยใช้โดรนมาช่วยสำรวจข้อมูลพื้นที่เพื่อจัดทำข้อมูลดังกล่าว และศึกษา#การนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการปอกผลสับปะรดมาสร้างประโยชน์และตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป “Zero Waste”  

ดังนั้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแหล่งผลิตสับปะรดในพื้นที่ภาคเหนือ พิจารณาถึงความสำคัญ และเชิญชวนให้หน่วยงานวิจัย หรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เข้ามาศึกษาเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ที่ดีต่อภาคเกษตรในระดับพื้นที่ ต่อไป

(ภาพ/ ข่าว : คณะทำงานประชาสัมพันธ์ สศท.2 พิษณุโลก)


บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari